หน้าเว็บ

หน่วยที่ 8

  บุคคลแห่งการเรียนรู้สู่ผู้นำทางวิชาการ

   ความหมายของการเรียนรู้
   นักจิตวิทยาหลายท่านให้ความหมายของการเรียนรู้ไว้ เช่น
คิมเบิล ( Kimble , 1964 ) "การเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวรในพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากการฝึกที่ได้รับการเสริมแรง"
ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower, 1981) "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกิริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์ "
คอนบาค ( Cronbach ) "การเรียนรู้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลเนื่องมาจากประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลประสบมา "
พจนานุกรมของเวบสเตอร์ (Webster 's Third New International Dictionary) "การเรียนรู้ คือ กระบวนการเพิ่มพูนและปรุงแต่งระบบความรู้ ทักษะ นิสัย หรือการแสดงออกต่างๆ อันมีผลมาจากสิ่งกระตุ้นอินทรีย์โดยผ่านประสบการณ์ การปฏิบัติ หรือการฝึกฝน"
ประดินันท์ อุปรมัย (2540, ชุดวิชาพื้นฐานการศึกษา(มนุษย์กับการเรียนรู้) : นนทบุรีพิมพ์ครั้งที่ 15, หน้า 121)การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงของบุคคลอันมีผลเนื่องมาจากการได้รับประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเหตุทำให้บุคคลเผชิญสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหมายถึงทั้งประสบการณ์ทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
ประสบการณ์ทางตรง คือ ประสบการณ์ที่บุคคลได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเอง เช่น เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักหรือเรียนรู้คำว่า “ร้อน” เวลาที่คลานเข้าไปใกล้กาน้ำร้อน แล้วผู้ใหญ่บอกว่าร้อน และห้ามคลานเข้าไปหา เด็กย่อมไม่เข้าใจและคงคลานเข้าไปหาอยู่อีก จนกว่าจะได้ใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปสัมผัสกาน้ำร้อน จึงจะรู้ว่ากาน้ำที่ว่าร้อนนั้นเป็นอย่างไร ต่อไป เมื่อเขาเห็นกาน้ำอีกแล้วผู้ใหญ่บอกว่ากาน้ำนั้นร้อนเขาจะไม่คลานเข้าไปจับกาน้ำนั้น เพราะเกิดการเรียนรู้คำว่าร้อนที่ผู้ใหญ่บอกแล้ว เช่นนี้กล่าวได้ว่า ประสบการณ์ ตรงมีผลทำให้เกิดการเรียนรู้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เผชิญกับสถานการณ์เดิมแตกต่างไปจากเดิม ในการมีประสบการณ์ตรงบางอย่างอาจทำให้บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไม่ถือว่าเป็นการเรียนรู้ ได้แก่


พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากฤทธิ์ยา หรือสิ่งเสพติดบางอย่าง
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจ
พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย
พฤติกรรมที่เกิดจากปฏิกิริยาสะท้อนต่างๆ
ประสบการณ์ทางอ้อม คือ ประสบการณ์ที่ผู้เรียนมิได้พบหรือสัมผัสด้วยตนเองโดยตรง แต่อาจได้รับประสบการณ์ทางอ้อมจาก การอบรมสั่งสอนหรือการบอกเล่า การอ่านหนังสือต่างๆ และการรับรู้จากสื่อมวลชนต่างๆ

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน 3 ด้าน ดังนี้
ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และประเมินผล
ด้านเจตพิสัย (Affective Domain ) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว การกระทำ การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ

องค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้
ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ 
แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู กิจกรรมการสอน และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ที่ครูนำมาใช้
การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด การคิด การรับรู้ ความสนใจ และความรู้สึก เป็นต้น
การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอันมาก
ความหมายของผู้นำ

                เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ผู้นำ ( Leader )  เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งขององค์กร  เพราะผู้นำมีภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงที่จะต้องวางแผน  สั่งการ  ดูแลและควบคุมให้บุคลากรขององค์กรปฏิบัติงานต่างๆให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้                 McFarland กล่าวว่า  ผู้นำ คือ บุคลที่มีความสามารถในการใช้อิทธิพลให้คนอื่นทำงานในระดับต่างๆที่ต้องการ ให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ตั้ง
ไว้  ( McFarland , 1979:214-215 )                ผู้นำ  คือ  ผู้ที่สามารถในการชักจูงให้คนอื่นทำงานให้สำเร็จตามต้องการ ( Huse , 1978:277 )                ผู้นำ  คือ  บุคคลที่มีอิทธิพลสูงสุดในกลุ่ม และเป็นผู้ต้องปฏิบัติภาระหน้าที่ของตำแหน่งผู้นำที่ได้รับมอบหมาย  บุคคลอื่นในกลุ่มที่เหลือก็คือ ผู้ตาม  แม้จะเป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย หรือผู้ช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆก็ตาม ( Yukl , 1989:3-4 )                ผู้นำ  คือ  บุคคลที่มาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง หรือการยกย่องขึ้นมาของกลุ่ม เพื่อให้นำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะและช่วยเหลือให้กลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความหมายของวิชาการ
เรามักได้ยินคนพูดคำว่าวิชาการ เป็นเวลานานมากแล้ว นอกจากนั้นยังมีความคิดขัดแย้งเกิดตามมาว่า เรื่องนี้เป็นวิชาการ เรื่องนั้นไม่ใช่วิชาการ ฟังดูแล้วน่าจะนำมาคิดค้นหาความจริงให้รู้ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากอะไรกันแน่
          ความจริงแล้ว แต่ละคนก็เป็นคนเหมือนกัน ทำไมถึงได้นำเอาเรื่องเดียวกันมาโต้แย้งระหว่างกันและกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งไม่เพียงเสียเวลาเท่านั้น หากยังทำให้เกิดภาวะสับสนขึ้นในสังคมมากยิ่งขึ้น
          จากเงื่อนไขดังกล่าว ถ้าจะอ้างว่า คนเราไม่เหมือนกัน ย่อมคิดแตกต่างกันเป็นธรรมดา ก็น่าจะรับฟังได้ แต่อีกด้านหนึ่ง หากสามารถมองลึกลงไปให้ถึงความจริงซึ่งอยู่ในรากฐาน ความขัดแย้งควรนำไปสู่จุดซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจกันได้ไม่ยาก
          สิ่งที่พบความจริงมาแล้วในอดีต คนส่วนใหญ่มักสะท้อนความคิดออกมาปรากฏให้รู้สึกได้ชัดเจนว่า วิชาการเป็นบันไดที่จะทำให้คนก้าวขึ้นไปสู่ที่สูง นอกจากนั้นส่วนใหญ่มักสะท้อนผลกลับลงมาทับถม ทำให้คนระดับล่างได้รับการดูถูกดูแคลน
ส่วนผู้ที่ยืนอยู่ระดับล่างย่อมมี 2 ด้านเช่นกัน ด้านหนึ่งแม้ถูกดูถูกแต่ก็ไม่สนใจ หากกลับทำให้เกิดความรู้สึกรักศักดิ์ศรีความเป็นคนลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งคนลักษณะนี้ มีรากฐานความเป็นตัวของตัวเองที่เข้มแข็งมาก จึงรู้สึกว่ากระแสการดูถูกดูแคลนจากผู้อื่นมีผลส่งเสริมให้ตนหยั่งรู้คุณค่าความเป็นคนลึกซึ้งยิ่งขึ้น
          ส่วนอีกด้านหนึ่ง ผู้ซึ่งได้รับการดูถูกดูแคลน มีผลทำให้เกิดปมด้อย จึงคิดตะเกียกตะกายขึ้นไปสู่ด้านบน เพื่อให้ตนได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งทิศทางที่มุ่งไปสู่ด้านนี้ ย่อมทำให้แต่ละคนมีนิสัยทับถมหรือเบ่งใส่คนอื่นเพิ่มมากขึ้น
          หากตั้งคำถามๆ ใจตัวเองว่า เราแต่ละคนคิดจะมุ่งวิถีชีวิตเดินไปสู่ทิศทางไหน เพื่อให้ตนมีความสุข และได้รับการยอมรับจากสังคมร่วมด้วย
          ช่วงหลังๆ ดูจะได้ยินผู้กล่าวถึงนักวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าวจากความรู้สึกนิยมชมชื่น แต่ผลการปฏิบัติเท่าที่ปรากฏ กลับทำให้สังคมทรุดตัวหนักมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้น ในเมื่อความจริงย่อมมีสองด้าน ดังนั้นนอกจากด้านหนึ่งจะรู้สึกนิยมชมชื่น แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ไปในทางดูถูกกว้างขวางมากขึ้นด้วยเช่นกัน
          มาถึงจุดนี้ หากรู้จักเฉลียวใจ น่าจะนำมาค้นหาเหตุผลว่า วิชาการคืออะไรอีกทั้งมีผลสร้างประโยชน์สุขให้แก่สังคมได้อย่างไร
          หลายคนมักมุ่งมองไปยังศาสตร์สาขาต่างๆ โดยที่เข้าใจว่าคือวิชาการ จนกระทั่งเกิดปัญหาตามมาว่า คนนั้นเป็นนักวิชาการสาขานั้น คนนี้เป็นนักวิชาการสาขานี้ โดยที่ไม่อาจหวนกลับมาค้นหาความจริงซึ่งเป็นศูนย์รวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้
          หากมองภาพรวมของชีวิตคนให้ถึงความจริง อีกทั้งรู้ว่ามีรากฐานอยู่ที่ไหน แต่ละคนคงไม่ตกเป็นเหยื่อให้คนอื่นหลอกล่อ โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งหวังใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อประโยชน์แห่งตน ซึ่งกรณีดังกล่าวเราพบกันมาแล้วอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาแฝงอยู่ในรากฐานคน หนักมากยิ่งขึ้น
หากหวนกลับมาพิจารณาค้นหาความจริง ควรจะพบได้ว่าศาสตร์สาขาต่างๆ เป็นสิ่งถูกกำหนดโดยคน เพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือแสวงประโยชน์ให้กับคนในการดำเนินชีวิต
          หากแต่ละคนมีความฉลาดและเฉลียวร่วมด้วย  ช่วยให้สามารถรู้เท่าทันผู้อื่น ควรจะรู้ความจริงได้ว่า ศาสตร์ทุกแขนงมีศูนย์รวมซึ่งเป็นความจริงอยู่ในใจมนุษย์แต่ละคน
          ดังนั้น ถ้าพื้นฐานการดำเนินชีวิตมนุษย์ มีความมั่นคงอยู่กับการรู้ความจริงจากใจตนเอง และมุ่งเรียนรู้สรรพสิ่งต่างๆ จากโลกภายนอก ในที่สุดย่อมรู้ได้เองว่า วิชาการทุกสาขาน่าจะหมายถึงความจริงซึ่งอยู่ในรากฐานจิตใจเราแต่ละคน
          หากรู้ได้แล้ว แม้จะนำออกมาใช้ประโยชน์ในงานสาขาใดก็ตาม ย่อมได้รับผลสนองตอบอันจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจศาสตร์ทุกสาขา ซึ่งมีเหตุมีผลสานถึงจิตใจมนุษย์ทุกคน แม้ว่าต่างก็อยู่บนพื้นฐานที่ไม่เหมือนกัน
          ดังนั้น ผลจากการจัดการศึกษาที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มคนผู้มีหน้าที่ในการจัดการเท่าที่รับกันมาแล้วเป็นช่วงๆ  ส่วนใหญ่มักปรากฏออกมาในลักษณะซึ่งอาจกล่าวว่า ยิ่งเรียนสูงขึ้นก็ยิ่งห่างจากการรู้ตนเองมากขึ้น
          สิ่งที่ชนรุ่นก่อนเคยปรารภฝากไว้ว่า ยิ่งเรียนสูง ขาก็ยิ่งพ้นพื้นดินมากขึ้น จึงน่าจะมีความจริงซึ่งแต่ละคนควรยอมรับ
          ดังจะพบความจริงได้จากผลการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนยุคก่อน หลังจากชีวิตผ่านระบบการจัดการศึกษาออกมาใหม่ๆ แต่ละคนพึงต้องทำงานเก็บเล็กผสมน้อย กว่าจะมีฐานะเติบโตยิ่งขึ้น จำเป็นต้องต่อสู้กับสภาพชีวิตตัวเอง จากผลการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ช่วยสอนให้ตนรู้คุณค่าชีวิต ร่วมกับสรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งตนได้รับมาภายหลัง
          แม้ในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งยังใช้รถจักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน มาถึงช่วงนี้มีรถยนต์ราคาแพงๆ เต็มไปหมด
          ความหวังในการพัฒนาสังคมและสภาพแวดล้อมซึ่งควรมีผลสนองความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ จึงอยู่ที่จิตวิญญาณคนท้องถิ่น ซึ่งมีรากฐานความรักพื้นดินอย่างลึกซึ้ง
          การเปลี่ยนแปลงร่วมกันระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสรรพสิ่งอื่นๆ เท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว แทนที่จะมีผลนำไปสู่เป้าหมายตามความปรารถนา กลับเปลี่ยนทิศทางหวนกลับมาสู่การสั่งสมปัญหาเพิ่มมากขึ้น
          ตามที่เขียนไว้ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายพัฒนาคนให้เป็นคนผู้มีคุณสมบัติความเป็นมนุษย์อย่างครบถ้วน
          แต่ผลที่ปรากฏเป็นความจริงอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ผู้ซึ่งชีวิตผ่านระบบการจัดการศึกษาไปแล้ว หากนำมาพิจารณาย่อมพบได้ว่าส่วนใหญ่ กลับมุ่งทิศทางสู่ด้านตรงข้าม ดังเช่นที่คนยุคก่อนปรารภว่า ปากว่าตาขยิบ ซึ่งหมายความว่า ปากอย่างหนึ่งใจอีกอย่างหนึ่ง
          สอดคล้องกันกับคำปรารภจากใจคนจำนวนไม่น้อยที่กล่าวว่า คนยุคปัจจุบันขาดความจริงใจต่อกันมากขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นเพราะรากฐานจิตใจมุ่งความสำคัญไปยังผลประโยชน์ส่วนตน เหนือกว่าให้ความสำคัญแก่เพื่อนมนุษย์
          ช่วงหลังๆ ผู้เขียนรับฟังคำพูดจากชนรุ่นหลังหลายคนซึ่งมักกล่าวว่า ตนเรียนมาจากสถาบันการศึกษาแล้วออกมาทำงานไม่ตรงสาขาวิชา
          หลังจากฟังแล้ว จึงตอบกลับไปว่า ทำไมจะไม่ตรง ทำงานอะไรก็ตรงได้ทั้งนั้น ขอให้เกิดจากจิตใจที่เปิดกว้าง ผลการปฏิบัติย่อมให้โอกาสแก่รากฐานตนเองในการหยั่งลงลึกซึ้งยิ่งขึ้น จนกระทั่งถึงจุดอันควรรู้ว่า แท้จริงแล้ววิชาการทุกสาขามีศูนย์รวมเป็นหนึ่งเดียวกันหมด
          นอกจากนั้นควรจะรู้ต่อไปอีกว่า ศูนย์รวมใจของแต่ละคนย่อมมีเหตุผลเชื่อมโยงถึงพื้นดินจากความรู้สึกรักและผูกพันอย่างลึกซึ้ง
          หลังจากอธิบายมาถึงจุดนี้ หากใครเข้าใจถึงย่อมสรุปคำตอบของคำว่าวิชาการได้อย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งมีเหตุผลสัมพันธ์อยู่กับชีวิตประจำวันของแต่ละคนคือความหมายของวิชาการทั้งสิ้น
แหล่งการเรียนรู้ที่เหมาะสม

ความหมายของแหล่งเรียนรู้
          แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ ที่สนับสนุนส่งเสริม
ให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง

เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้
          1. แหล่งการศึกษาตามอัธยาศัย
          2. แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
          3. แหล่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การศึกษาค้นคว้า แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
          4. แหล่งสร้างเสริมประสบการณ์ภาคปฏิบัติ
          5. แหล่งสร้างเสริมความรู้ ความคิด วิทยาการและประสบการณ์
ประเภทของแหล่งเรียนรู้
          แหล่งเรียนรู้ จำแนกตามลักษณะที่ตั้งได้ ดังนี้
          1. แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน
          2. แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น

1 ความคิดเห็น:

  1. เนื้อหาแล้วได้ใจความมากค่ะ ตกแต่งได้สวยงาม เนื้อหาครบถ้วนมากๆค่ะ

    ตอบลบ